ร้านค้าสามารถจัดการบริการที่เปิดจองได้ที่หน้า “บริการทั้งหมด” ไม่ว่าจะเป็น เพิ่มปฏิทิน, สร้างบริการ, แก้ไขบริการ รวมถึงการเปิดใช้งานบริการ

โดยเราจะต้องสร้างข้อมูลทั้งหมด 2 ส่วนหลักๆ คือ 1. ปฏิทิน และ 2. บริการหลัก-ย่อย ถึงจะสามารถเปิดให้บริการได้

บอกเลยว่าขั้นตอนอาจจะดูเยอะ แต่ตั้งค่าแค่ครั้งเดียวก็ใช้ได้ตลอดชีพเลยนะ😊 มาดูวิธีตั้งค่ากันเลย👇

1. สร้างปฏิทิน

การสร้างปฏิทินเปรียบเสมือนการควบคุมบริการหรือสิ่งนั้นๆให้เวลาไม่ซ้ำกัน

ยกตัวอย่างเช่น บริการร้านต่อขนตา มีบริการถอดขนตา และต่อขนตา โดยมีช่าง 1 คน คือช่าง A

ในสถานการณ์จริงแล้วเมื่อมีลูกค้ามาจองบริการถดขนตา ช่าง A เวลา 10.00 น. แล้ว ลูกค้าคนถัดไปจะไม่สามารถจองบริการใดๆของช่าง A ได้อีก

โดยตัวปฏิทินที่เราสร้างให้ช่าง A นี้จะเป็นการควบคุมเวลาของช่าง A เพื่อไม่ให้เกิดการจอง ซ้ำซ้อนในเวลาเดียวกันได้นั่นเองค่ะ

TIPS💡: นอกเหนือจากการใช้ปฏิทินควบคุมตารางช่างแล้ว เราอาจจะใช้เป็นหน่วยอื่นๆตามธุรกิจของเราได้เช่นกันนะคะ เช่น มีหลายสาขาแต่ละสาขาให้บริการจำกัดตามช่วงเวลาและ Slot ที่กำหนด ก็จะใช้เป็นการสร้างปฏิทินสำหรับสาขาได้เลยค่ะ หรือเปรียบเทียบง่ายๆว่า อะไรที่มีจำนวนจำกัดต่อช่วงเวลานั้นๆ ก็ใช้ปฏิทินควบคุมจำนวนตามช่วงเวลาได้นั่นเองค่ะ

เรามาดูวิธีการตั้งค่ากันเลยดีกว่าค่ะ

เริ่มจากเข้ามาที่เมนู “บริการทั้งหมด” > หัวข้อ “ปฏิทิน” ในการตั้งค่าหน้าปฏิทินจะมีอยู่ทั้งหมด 3 หัวข้อหลักๆ คือ

  1. ตั้งค่ารอบเวลาจอง : ตั้งค่าเวลาเปิด-ปิดทำการในแต่ละวัน หรือระบุตามวัน รวมถึงรายละเอียดจำนวนการจองต่อรอบ
  2. จำกัดจำนวนการจองต่อคน : การสร้างเงื่อนไขเพื่อจำกัดจำนวนการจองของลูกค้า 1 คน/วัน
  3. ตั้งค่าการแสดงผลรอบการจอง : ตั้งค่าการแสดงผลเวลาการจองแบบปรับแต่งได้ตามร้านค้าต้องการ

จาก 3 หัวข้อนี้เรามาลงลึกในแต่ละหัวข้อกันเลยค่ะ

1. ตั้งค่ารอบเวลาจอง

ก่อนอื่นให้ตั้งค่าชื่อปฏิทินกันก่อนเลย

วิธีการตั้งชื่อปฏิทินให้ตั้งตามสิ่งที่เราต้องการควบคุม เช่น สาขา A…, ช่าง…, บริการ… ในการตั้งชื่อตรงนี้มมุมลูกค้าจะไม่เห็นชื่อที่เราตั้งไปนะคะ เพราะฉะนั้นตั้งชื่อปฏิทินเพื่อใช้เรียกในร้านได้เลย (ในส่วนนี้จะมีผลกับการตั้งค่าบริการด้วยเพราะฉะนั้น ตั้งค่าในส่วนนี้แล้วเก็บไว้ในใจแล้วเดี๋ยวเรามาเจอกับชื่อปฏิทินอีกครั้งในส่วนของการตั้งค่าบริการนะคะ)

หลังจากตั้งชื่อปฏิทินแล้วเรามาตั้งค่าเวลาเปิด-ปิดทำการ หรือรายละเอียดจำนวนรอบการจองกันเลยค่ะ

ในการตั้งค่าเวลาจะสามารถทำได้ 2 แบบ คือ 1. สร้างเป็น Slot Routine หรือ Slot ที่ซ้ำกันเป็นรายสัปดาห์ และ 2. สร้างตามวันที่ เรามาดูวิธีการตั้งค่าและความแตกต่างของการสร้างทั้ง 2 แบบกันเลยค่ะ

1. สร้างเป็น Slot Routine

ขั้นตอนที่ 1 : กดปุ่ม “ตั้งค่าแบบกลุ่ม”

ขั้นตอนที่ 2 : ตั้งค่าข้อมูลวัน-เวลาทำการ ในส่วนนี้สามารถระบุวันเวลาทำการของปฏิทินที่เราต้องการสร้างได้เลย เช่น ช่าง A ทำงานทุกวัน ยกเว้นวันพุธ และมีบางวันที่เริ่มงาน-สิ้นสุดงาน ไม่เท่ากัน ก็สามารถระบุตามรูปด้านล่างได้เลย

⚠️หมายเหตุ : หากบางวันมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่นช่าง A ลาไม่มาทำงาน เราก็มีฟีเจอร์วันหยุดให้นะ เพราะฉะนั้นในการสร้าง ข้อมูลวัน-เวลาทำการเป็นเพียงค่าเริ่มต้นในการเปิดบริการเท่านั้น หากมีบางวันต้องการปิด/เปิดก็สามารถแก้ไขภายหลังได้

ขั้นตอนที่ 3 : ตั้งค่ารอบการจอง จะเป็นการกำหนดระยะเวลาต่อ 1 รอบว่าใช้เวลากี่ชั่วโมง/นาที เช่น 1 ชั่วโมง/รอบ จะเป็น 01:00 และตั้งค่า “จำนวนการจอง” เพื่อระบุว่า 1 รอบสามารถจองได้ทั้งหมดกี่คิว เช่น ช่าง A รับลูกค้าได้แค่ 1 คนต่อช่วงเวลาเท่านั้น ก็ระบุเป็น 1

กรณีที่ใช้ปฏิทินในกรณีอื่นๆเช่น โต๊ะอาหารที่มีหลายตัวต่อ 1 ช่วงเวลา ก็สามารถระบุตามจำนวนที่เปิดให้บริการได้เลย

หลังจากนั้นกด “บันทึก” ถือเป็นการตั้งค่าปฏิทินแบบ Slot Routine สำเร็จ🎉

2. สร้างตามวันที่

ขั้นตอนที่ 1 : กดปุ่ม “ตั้งค่าระบุวันที่”

ขั้นตอนที่ 2-3 : คลิกที่กล่อง “โปรดระบุวันที่” จากนั้นจะขึ้นหน้าปฏทินเล็กๆมาให้เลือกวัน สามารถกดเลือกตามวันที่ปฏิทินนี้เปิดให้บริการได้เลย

ยกตัวอย่างการใช้งานการสร้างปฏิทินแบบวิธีนี้ เช่น เปิดคอร์สเรียนพิเศษ แค่เฉพาะบางวันเท่านั้น โดยเป็นการอิงตามวันที่ และเวลาที่แตกต่างกัน หรือ ช่าง A เป็นช่าง Freelance มีเปิดให้บริการตามวันที่เท่านั้น

ขั้นตอนที่ 4 : เมื่อระบุวันที่เรียบร้อยแล้วให้มากดที่ปุ่ม “+ เพิ่มช่วงเวลา” เพื่อเพิ่ม Slot ที่เปิดจอง หากมีหลายช่วงเวลาก็สามารถ + เพิ่มได้ตาม Slot ที่เปิดให้บริการได้เลย

เมื่อตั้งค่าเวลาที่เปิดให้บริการเรียบร้อยแล้วก็กด “เพิ่ม” ได้เลย🎉

TIPS💡: ปุ่ม “ตั้งค่าแบบไว” สามารถใช้ในกรณีที่อยากตั้งค่าการเปิดบริการ 10.00 – 18.00 โดยอยากแบ่ง Slot เป็น Slot ละ 1 ชั่วโมงให้อัตโนมัติ เมื่อตั้งค่าที่ตั้งค่าแบบไวแล้วระบบจะแบ่งเป็น Slot ละ 1 ชั่วโมงตามเวลาที่กำหนดให้ แบบไม่ต้องกรอกเวลาเองทีละชั่วโมง

ตามตัวอย่างการตั้งค่ารูปด้านบน หมายความว่า ปฏิทินนี้จะให้บริการเฉพาะวันที่ 6, 11, 15 และ 20 มีนาคม เวลา 10.00 – 18.00 เท่านั้น

แค่นี้การสร้างเวลาปฏิทินก็เสร็จเรียบร้อย เลือกใช้ตามธุรกิจของคุณได้เลยทั้งแบบ 1 และ แบบ 2 (หรือจะใช้รวมๆก็ได้นะ😊)

2. จำกัดจำนวนการจองต่อคน

คือการสร้างเงื่อนไขในมุมลูกค้าว่า ในวันที่… ลูกค้า 1 คน จะจองได้จำนวนกี่ Slot

ยกตัวอย่าง ระบุจำกัดจำนวนการจองต่อคน/วันเป็น 2 หมายความว่าลูกค้า A จะสามารถจองบริการในวันที่ 6 ได้ 2 เวลา หากทำการจองบริการในวันที่ 6 ครบ 2 เวลาแล้ว จะไม่สามารถจองบริการใดๆในวันที่ 6 ได้อีก แต่จะยังสามารถทำการจองของวันที่ 7 ได้ (จำกัด 2 เวลาเหมือนเดิม)

3. ตั้งค่าการแสดงผลรอบการจอง

1. ลูกค้าเห็นเฉพาะเวลาเริ่มต้น  : หากเราสร้าง Slot ของการจองเป็น 10.00 – 12.00 และ 13.00 – 15.00 เมื่อเราเปิดการใช้งานในหน้านี้เมื่อลูกค้าเข้ามาในหน้าเลือกการจอง ลูกค้าจะเห็นแค่เวลาเริ่มต้นเท่านั้น เช่น 10.00 และ 13.00

2. รูปแบบการแสดงผล : ในส่วนนี้ร้านค้าจะสามารถเลือกการแสดงผลตามการใช้งานได้เลย โดยจะมีทั้งหมด 2 รูปแบบด้วยกัน คือ

รูปแบบที่ 1 (แสดงเวลาตามการคำนวณของระบบ) – เหมาะสำหรับร้านที่มีพื้นที่จำกัดอยากให้การจองคิวเป็นแบบคิวหลวมๆ ตามเวลาชัดเจน ไม่สามารถทับซ้อนกันได้

รูปแบบที่ 2 (แสดงตามเวลาเริ่มต้นทั้งหมด) – เหมาะสำหรับธุรกิจที่ต้องการให้ลูกค้าเข้ามาเวลาไหนก็ได้ โดยจะมีโอกาสที่ลูกค้าจะเข้ามาได้ถี่กว่าและต้องการคิวแบบเร่งด่วน

เมื่อตั้งค่าครบเรียบร้อยทั้ง 3 หัวข้อหลักแล้วก็กดปุ่ม “ดำเนินการต่อ” ได้เลย

เพียงเท่านี้การสร้างปฏิทินก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว🎇

เมื่อสร้างปฏิทินสำเร็จแล้วขั้นตอนต่อไปคือการสร้างบริการ โดยส่วนของบริการจะใช้ชื่อว่าบริการหลัก – บริการย่อย เรียกง่ายๆก็คือ Step 1 และ Step 2 นั่นแหล่ะ แต่หน้าตาจะเป็นยังไงมาดูกัน

2. การสร้างบริการ

เริ่มจากเข้ามาที่เมนู “บริการทั้งหมด” > หัวข้อ “บริการ”

1. กดปุ่ม “+เพิ่ม” เพื่อสร้างบริการ

2. เพิ่มรูปภาพบริการ : แนะนำเป็นรูปขนาด 1 : 1

3. ระบุชื่อบริการ : ชื่อบริการที่จะแสดงให้ลูกค้าเห็น

4. ระบุ SKU : ในส่วนนี้จะเป็นการระบุเพื่อแสดงในลิงก์การจอง ให้ตั้งค่าเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษพิมพ์เล็กเท่านั้น และไม่สามาระใส่ตัวอักษรพิเศษได้ยกเว้น “-” และ “_”

5. รายละเอียด : เป็นการระบุรายละเอียดของบริการหลัก เช่น เราตั้งค่าเป็นบริการต่อขนตา ก็สามารถใส่รายละเอียดของการต่อขนตาไปในช่องนี้ได้เลย

6. หมายเหตุการจอง : ลูกค้าจะเห็นข้อมูลหมายเหตุการจองเมื่อกดยืนยันการจอง หรือเข้ามาดประวัติการจอง ในส่วนนี้อาจจะเป็นการระบุข้อมูลที่เป็นข้อควรรู้ก่อนการจอง หรือก่อนการเข้ารับบริการก็ได้เช่นกัน

7. หลังจากระบุข้อมูลในบริการหลักเรียบร้อยแล้วให้กดปุ่ม “+ เพิ่มบริการย่อย” เพื่อสร้างบริการให้สมบูรณ์ โดยในส่วนของบริการย่อยก็จะมี

  • ใส่รูปภาพบริการ (ถ้ามี)
  • เลือกปฏิทิน (จากข้อ 1. สร้างปฏิทิน ในส่วนนี้แหล่ะที่เราจะเอามาใช้งาน)
  • ตั้งชื่อบริการ : เพื่อให้ลูกค้าเห็นชื่อบริการในการทำการจอง
  • ระบุราคา – ราคาหลังหักส่วนลด : สำหรับกรณีที่มีการเก็บเงินมัดจำ แต่หากไม่มีการเก็บเงินมัดจำในการจองก็ใส่เป็น 0 ได้เลยนะคะ
  • ระยะเวลาบริการ : หมายความว่าบริการนั้นๆให้บริการต่อ 1 การจองเป็นเวลากี่ชั่วโมง/นาที
  • รายละเอียดบริการ/หมายเหตุการจอง : ถ้าอยากจะใส่รายละเอียดเพิ่มว่าการเลือกบริการย่อย หรือ บริการใน Step 2 มีรายละเอียดบริการยังไงบ้างก็ใส่ได้เลย แต่ถ้าไม่มีก็ไม่จำเป็นต้องใส่ก็ได้ค่ะ

ถ้ามีมากกว่า 1 บริการย่อย ก็สามารถกดปุ่ม “+เพิ่ม” ได้เลย แต่ถ้ามีแค่ 1 บริการ ก็เลื่อนลงมากดปุ่ม “บันทึก”

⚠️หมายเหตุ : ถ้าอยากจะเปิด-ปิดไม่ใช้งานบริการแล้วก็สามารถกดลบ หรือกดที่ปุ่มสีชมพูมุมขวาเพื่อทำการปิดบริการไม่ให้ลูกค้าทำการจองได้

เพียงเท่านี้การตั้งค่าบริการของเราก็เสร็จเรียบร้อยพร้อมใช้งานได้แล้ว🎉

ตัวอย่างมุมลูกค้าจะเห็นเป็นแบบนี้เลย

**หมายเหตุ**

แพ็กเกจ Free Plan : เพิ่มบริการได้ 1 บริการหลัก 2 บริการย่อย และ สามารถจองได้ 100 นัด/เดือน

– แพ็กเกจ Professional Plan : เพิ่มบริการได้ 5 บริการหลัก 10 บริการย่อย และ สามารถจองได้ 10,00 นัด/เดือน

อ่านวิธีการตั้งค่าลำดับต่อไปได้เลย👉 Tutorial 3.1 : ตั้งค่าแจ้งเตือนบริการ



🔵ช่องทางการติดต่อ FB : ZERVA ระบบจองนัดหมาย จองบริการออนไลน์


สำหรับลูกค้าธุรกิจ Enterprise บริษัทเรามีบริการตั้งแต่ Consult, Design, Development, Maintain ระบบ AI Chatbot และ Data Analytics รบกวนติดต่อที่ E-mail: sales@zwiz.ai เพื่อนัดนำเสนองาน ดูเพิ่มเติมที่ Enterprise Showcase


📢คู่มือทั้งหมด📢

Tutorial 1: เริ่มต้นการใช้งาน ZERVA

Tutorial 2: การตั้งค่าหน้าร้านค้าบน ZERVA

Tutorial 3: การตั้งค่าบริการทั้งหมดบน ZERVA

Tutorial 3.1 : ตั้งค่าแจ้งเตือนบริการ

Tutorial 4: การตั้งค่าการชำระเงินบน ZERVA

Tutorial 5: การตั้งค่าวันหยุดร้านค้าบน ZERVA

Tutorial 6: ดูข้อมูลการจองในหน้า “บริการที่ถูกจอง”

Tutorial 7 : การตั้งค่าบทบาทแอดมินบนระบบ ZERVA